วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สหประชาชาติ

สหประชาชาติ (อังกฤษ: United Nations; UN) เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นองค์การระหว่างประเทศที่กำเนิดขึ้นต่อจากสันนิบาตชาติ สหประชาชาติมีเป้าหมายที่จะให้เกิดร่วมมือกันของกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิทธิมนุษยชน และบรรลุสันติภาพโลก และมีหน้าที่หลักในการยับยั้งสงคราม และระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังให้โอกาสประเทศต่าง ๆ สร้างดุลแห่งการพึ่งพาอาศัยกันและรักษาผลประโยชน์ชาติในกรณีที่เกิดปัญหาระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มนุษยธรรม ให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน และเป็นศูนย์กลางในการร่วมมือกันเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ
สหประชาชาติมีสมาชิกทั้งหมด
192 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 5 องค์กรหลัก ได้แก่
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ
สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ประวัติการก่อตั้ง
สหประชาชาติถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดองค์การสันนิบาตชาติ ซึ่งถูกมองว่าไร้ประสิทธิถาพที่จะธำรงรักษาสันติภาพ ดังที่เห็นได้จากความล้มเหลวในการป้องกันสงครามโลกครั้งที่สอง คำว่า "สหประชาชาติ" เป็นแนวคิดของ แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์และวินสตัน เชอร์ชิลล์[2] ถูกใช้ครั้งแรกในปฏิญญาสหประชาชาติ เมื่อปี ค.ศ. 1942 ซึ่งเป็นการรวบรวมเอาประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร 26 ประเทศในสงครามโลกครั้งที่สองเข้าด้วยกันภายใต้การลงนามในกฎบัตรแอตแลนติก และกลายเป็นคำที่ใช้เรียกองค์การนี้ในที่สุด ในปี ค.ศ. 1944 ตัวแทนจากประเทศฝรั่งเศส สาธารณรัฐจีน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อวางแผนการก่อตั้งสหประชาติที่ดัมบาตันโอกส์ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.[3] การประชุมครั้งนั้นและครั้งต่อ ๆ มา ทำให้เกิดรากฐานความร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่สันติภาพ ความมั่นคง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคม โดยแผนเหล่านี้ได้ผ่านการถกเถียงอภิปรายจากรัฐบาลและประชาชนจากทั่วโลก
เมื่อใกล้สิ้นสุดสงคราม การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่
25 เมษายน ค.ศ. 1945 ที่นครซานฟรานซิสโก ตัวแทนจาก 50 ประเทศได้ลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ยกเว้นโปแลนด์ที่ไม่สามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมได้แต่ได้รับการพิจารณาให้เป็นสมาชิกดั้งเดิม รวมเป็น 51 ประเทศ แม้สันนิบาตชาติจะถูกล้มเลิกไป แต่อุดมการณ์ส่วนใหญ่และโครงสร้างบางประการได้ถูกกำหนดไว้ในกฎบัตรโดยได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมกับโลกใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น หลังจากกฎบัตรผ่านการลงนามจากสมาชิก สหประชาชาติจึงได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการเมื่อกฏบัตรมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 หลังจากนั้น การประชุมสมัชชาครั้งแรกเกิดขึ้นที่กรุงลอนดอน เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1946[4]
เลขาธิการสหประชาชาติ
เลขาธิการทำหน้าที่เป็นโฆษกและเสมือนเป็นผู้นำขององค์การสหประชาชาติ เลขาธิการคนปัจจุบันขององค์การสหประชาชาติ คือ นาย ปัน กี มุน ซึ่งทำหน้าที่ต่อจากนาย โคฟี อันนัน ในปี ค.ศ. 2007 โดยมีกำหนดสิ้นสุดวาระแรกของเขาในปี ค.ศ. 2011[10]
ตำแหน่งนี้ ซึ่งแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์มองว่าเป็น "ผู้ดูแลโลก" ถูกนิยามไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติว่าเป็น "ผู้นำการบริหารขององค์การ" และกฎบัตรยังได้ระบุว่าเลขาธิการสหประชาชาติสามารถยก "ปัญหาใด ๆ ที่เขาเห็นว่าอาจส่งผลกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงของนานาชาติ" ขึ้นเพื่อให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณาได้ ทำให้บทบาทของเลขาธิการสหประชาชาติมีขอบเขตกว้างขวางมากขึ้นในเวทีโลก ตำแหน่งเลขาธิการแห่งสหประชาชาติจึงมีสองบทบาท ทั้งผู้บริหารสหประชาชาติ และนักการทูตหรือผู้ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก และหาข้อยุติให้กับประเด็นของโลก[10] เลขาธิการสหประชาชาติมีหน้าที่ที่จะควบคุมปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การควบคุมองค์กรสากล การรวบรวมข้อมูลจากข้อตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและพูดคุยกับผู้นำรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ
องค์การ
ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 5 องค์กรหลัก (ไม่นับรวมไปถึง คณะมนตรีภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติ ซึ่งยุติการปฏิบัติงานไปในปี ค.ศ. 1994[5]) ซึ่งประกอบด้วย สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติและศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สี่องค์กรในจำนวนดังกล่าวมีสถานที่ทำการในสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก ส่วนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ส่วนองค์การย่อย ๆ ตั้งอยู่ที่เจนีวา เวียนนาและไนโรบี รวมไปถึงเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก
สหประชาชาติมี
ธง ที่ทำการไปรษณีย์ และดวงตราไปรษณียากรของตนเอง ภาษาทางการที่ใช้มีอยู่ 6 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษารัสเซีย ภาษาจีน และภาษาอาหรับ[6] โดยที่ภาษาอาหรับได้ถูกเพิ่มเข้ามาหลังสุด เมื่อปี ค.ศ. 1973 ส่วนสำนักงานเลขาธิการนั้นใช้ 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษที่กำหนดให้เป็นมาตรฐาน คือ อังกฤษบริติช และการสะกดแบบออกซ์ฟอร์ด ส่วนภาษาจีนมาตรฐาน คือ อักษรจีนตัวย่อ ซึ่งเปลี่ยนมาจาก อักษรจีนตัวเต็ม ในปี ค.ศ. 1971 เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสมาชิกสหประชาชาติแทนสาธารณรัฐจีน

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติคือการประชุมของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติจะประชุมสมัชชาใหญ่ซึ่งอาจเปรียบได้กับรัฐสภาของโลกเป็นประจำทุกปี โดยมีประธานสมัชชาที่ได้รับการเลือกมาจากประเทศสมาชิก การประชุมจะกินเวลานานสองสัปดาห์ ซึ่งทุกประเทศสามารถเสนอญัตติแก่ที่ประชุมได้ การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1946 ณ กรุงลอนดอน ซึ่งในขณะนั้นมีสมาชิก 51 ประเทศ
เมื่อที่ประชุมสหประชาชาติมีญัตติที่สำคัญ จะต้องมีการลงมติโดยประเทศสมาชิกจำนวนอย่างน้อยสองในสามเพื่อให้มีการผ่าน อย่างเช่น การประชุมเกี่ยวกับสันติภาพและการรักษาความปลอดภัย การเลือกสมาชิกขององค์การ การรับสมาชิก การยุติสถานะสมาชิก การขับไล่สมาชิกและเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ ส่วนญัตติอื่นจะยึดถือตามเสียงข้างมาก ไม่ว่าประเทศจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ร่ำรวยหรือยากจน ต่างมีสิทธิออกเสียงได้เพียงเสียงเดียว แม้ว่าคำตัดสินของสมัชชาใหญ่มิได้ถือเป็นข้อผูกมัดแต่ก็เป็นมติที่มีน้ำหนักเท่ากับเป็นความเห็นของรัฐบาลโลก สมัชชาใหญ่สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ภายใต้ขอบเขตขององค์การสหประชาชาติ ยกเว้นเรื่องสันติภาพและการรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นการตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ